ซีอาน(Xi’an) หนึ่งในสิบเมืองประจำมณฑลส่านซี (Shaanxi) …หากเราพอจำภาษาจีนเล็ก ๆ น้อย ๆ ในเรื่องทิศได้ว่า “เหนือ-ใต้-ออก-ตก” คือ “เป่ย-หนาน-ตง-ซี” ย่อมเดาได้ไม่ยากว่าซีอันเป็นเมืองด้านตะวันตก ขณะที่เป่ยจิง(ปักกิ่ง)อยู่ทางตอนเหนือมีฐานะเป็นเมืองหลวงปัจจุบันของประเทศจีน เมืองตะวันตกอย่างซีอานก็เคยเป็นเมืองหลวงเก่าแก่สืบเนื่องมาหลายราชวงศ์ ตั้งแต่เมื่อหนึ่งพันปีก่อนคริสตกาลภายใต้ชื่อโบราณที่เรียกกันสมัยนั้นว่า “ฉางอาน”
แต่เวลาที่นักท่องเที่ยวทั่วไปได้ยินชื่อ “ซีอาน” มักนึกถึงจักรพรรดิจิ๋นซีก่อน ทั้ง ๆ ที่ฉางอาน(ซีอาน)ไม่ใช่เมืองที่พระองค์เลือกเป็นศูนย์กลางแม้แต่น้อย หากแต่เป็น “เซี่ยนหยาง”(Xianyang) ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือห่างจากเมืองซีอานประมาณ 50 กิโลเมตร เหตุผลก็เพราะติดภาพความยิ่งใหญ่โอฬารของกองทัพทหารดินเผาหรือที่เรียกกันเป็นชื่อสากลว่า “Army of Terra-cotta Warriors” ที่ค้นพบบริเวณสุสานของพระองค์
….ด้วยความเป็นเจ้าเหนือแผ่นดินจีน “อย่างเป็นทางการ” องค์แรก จิ๋นซีฮ่องเต้ (นับแต่นี้จะเรียกตามภาษาจีนกลางว่า “ฉินสื่อหวงตี้”) ย่อมทำอะไรเล็ก ๆ ไม่เป็น จากการที่ทรงต้องรวบรวมดินแดนแคว้นเหล่าเข้าด้วยกันอย่างยากลำบากจากยุคสงครามระหว่างแคว้นทั้งเจ็ด(จ้านกั๋ว) อันได้แก่ฉิน ฉู่ ฉี เยี่ยน หัน จ้าว และเว่ย หลังจากสืบราชสมบัติแคว้นฉินด้วยพระชนมายุเพียง 13 พรรษา พระองค์จึงให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงเพื่อปกป้องและปกครองแผ่นดินจีนเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นในช่วงรัชสมัยฉินมักพบหลักฐานที่แสดงถึงพลังอำนาจอันยิ่งใหญ่ แต่หาความรุ่งเรืองด้านศิลปวัฒนธรรมแทบไม่พบ หนำซ้ำหนังสือประวัติศาสตร์ ปรัชญา บทกวี ไม่เว้นแม้แต่เพลงโบราณยังถูกเผาทำลาย เพื่อป้องกันการบั่นทอนล้มล้างอาณาจักรที่เป็นปึกแผ่นของพระองค์
นอกจากนี้ยังร่ำลือกันถึงความเป็นจักรพรรดิที่ใฝ่หา “ชีวิตอมตะ” ด้วยถือพระองค์ว่ามีความยิ่งใหญ่เหนือชนทั่วหล้าและมหากษัตริย์แคว้นใดในอดีต จึงเชื่อว่ามีแต่พระองค์เท่านั้นที่จะปกครองแผ่นดินจีนอันกว้างใหญ่ไพศาลได้ดีที่สุด จึงทรงมุ่งมั่นที่จะมีพระชนมายุตราบชั่วฟ้าดินสลาย ดั่งเช่นประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ระหว่างเสด็จประพาสไปยังชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกเพื่อค้นหาเกาะอมตะในตำนานเซียน ด้วยมุ่งหวังจะครอบครองโอสถทิพย์(ยาอายุวัฒนะ)
ผลงานที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ ขนาดที่ว่าเดินทางไปไกลถึงดวงจันทร์แล้วยังมองเห็นได้ก็คือกำแพงเมืองจีน (ชื่อเป็นทางการคือ “กำแพงหมื่นลี้” หรือมีชื่อสามัญว่า “กำแพงยาว”) สร้างขึ้นเพื่อแสดงอาณาเขตการปกครองและป้องกันข้าศึกรุกราน อันดับต่อมาก็คือกองทัพนักรบดินเผาขนาดใหญ่เท่าตัวคนจริง ๆ จำนวนมหาศาลในบริเวณสุสานของพระองค์เอง ก็สนองต่อความเชื่อเรื่องความมั่นคงของราชวงศ์ฉินในภายภาค(และภพ)หน้า ส่วนพระปรีชาสามารถอื่น ๆ เช่นกำหนดระบบเงินกลมเจาะรูสี่เหลี่ยมตรงกลางไว้ร้อยเป็นพวง ระบบชั่งตวงวัด ระบบภาษาเขียน ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วหล้า ก็ล้วนแต่เอื้ออำนวยต่อการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจของพระองค์ทั้งสิ้น
จากเมื่อสองพันปีก่อนจวบจนบัดนี้ หลักฐานอภิมหาโบราณวัตถุแห่งแสนยานุภาพที่ยังคงความแข็งแกร่งของพระองค์นั่นเองที่มักกลบทับรัศมีราชวงศ์อื่น ๆ
############
นับถอยหลังไป 32 ปีเพื่อย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1974 หรือพ.ศ. 2517 ….ขณะที่ชาวนากำลังขุดดินทำบ่อน้ำ กลับค้นพบตุ๊กตาโบราณใส่ชุดนักรบทำด้วยดินเผาขนาดเท่าคน (จริง ๆ แล้วขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย เพราะมีความสูงถึง 1.8 – 2 เมตร เว้นแต่ว่าคนจีนโบราณตัวสูงใหญ่กันทุกคน)โดยบังเอิญเข้า ณ บริเวณพื้นราบค่อนข้างแห้งแล้ง เพาะปลูกอะไรก็ไม่ค่อยได้ผล ห่างจากสุสานฉินสื่อหวงไปทางตะวันตกประมาณ1.5 กิโลเมตร จึงแจ้งให้ทางการทราบ แล้วทุกคนก็ต้องร้องอ๋อว่าทำไมพื้นที่บริเวณนี้ถึงทำการเกษตรไม่ได้ หลังจากค้นพบว่าใต้พื้นดินบริเวณนั้นเต็มไปด้วยกองทัพนักรบทหารราบดินเผาในมือถืออาวุธจริง เช่นดาบ หอก ธนู มีจำนวนมหาศาลถึงขนาดที่ว่าประมาณการไว้ว่ามีกว่า7-8,000 ตัว แต่ทุกวันนี้ยังขุดมาบูรณะไม่หมด (ส่วนชาวนาผู้ค้นพบนั้นปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่และคอยแจกลายเซ็นให้กับใครก็ตามที่ซื้อหนังสือรวมเรื่องและภาพกองทัพทหารดินเผาซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ตีพิมพ์-แต่ห้ามถ่ายรูปเจ้าตัวโดยเด็ดขาด)
กองทัพทหารดินเผาขนาดเท่าคนจริงนี้เป็นกองทัพที่สร้างขึ้นเพื่ออารักขาสุสานฉินสื่อหวงที่ตั้งอยู่บนภูเขาหลี (หลีซาน) จึงเชื่อกันว่ามีรูปปั้นดินเผาของพระองค์ขนาดเท่าตัวจริงด้วยแต่ว่ายังหาไม่พบ และทุกวันนี้รัฐบาลจีนก็ยังไม่ยอมขุดสุสานขึ้นมาโดยอ้างว่าเทคโนโลยียังไม่เอื้ออำนวย เกรงว่าจะทำลายหลักฐานทางประวัติศาตร์อันประเมินคุณค่าไม่ได้ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งนี้ เราต้องไม่ลืมว่าตามบันทึกประวัติศาสตร์ของซือหม่าเชียนในสมัยฮั่นอันเป็นราชวงศ์ต่อมานั้นระบุไว้ว่า ฉินสื่อหวงตี้เกณฑ์แรงงานมาถึง 700,000 คน เพื่อสร้างอาณาจักรหลังความตายใต้พิภพนี้ โดยใช้เวลาทั้งสิ้นถึง 36 ปี ก่อนที่จะฝังคนงานทั้งหมดรวมทั้งขุนนางและสนมกว่า 48 นางไปพร้อม ๆ กับพระองค์!!
ลองจินตนาการไปตามบันทึกประวัติศาสตร์เป็นภาพ “เมืองจักรพรรดิ” ที่จำลองแผ่นดินจีนฉบับย่อส่วนเอาไว้ใต้พื้นดิน เพดานท้องพระโรงตบแต่งด้วยเพชรพลอยและไข่มุกแท้ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวถือเป็นดินแดนแห่งสรวงสวรรค์ พื้นด้านล่างปูฉาบด้วยทองแดงอันหมายถึงผืนแผ่นดิน ผสมผสานด้วยสายน้ำปรอทอันแทนความหมายของแม่น้ำและทะเล กระแสน้ำนั้นถูกบังคับขับเคลื่อนทิศทางด้วยเครื่องจักรกล ส่วนบริเวณด้านนอกของที่ประทับเป็นตำหนักน้อยใหญ่สำหรับบรรดานางสนม …….หลายคนอาจเถียงหัวชนฝาว่าน่าจะเป็นเรื่องในนิยายปรำปรามากกว่า แต่ทว่าเมื่อไม่นานมานี้กลับมีการค้นพบสารปรอทในปริมาณสูงมากอย่างไม่น่าเชื่อบนผิวดินบริเวณนี้ จึงดูเหมือนว่าบันทึกดังกล่าวเริ่มมีเค้ามูลความจริงแล้ว
อนิจจา.. นักท่องเที่ยวที่พยายามปีนบันไดสุสานจากชั้นล่างไปสู่ชั้นบนสุดย่อมรู้สึกผิดหวังเป็นธรรมดาเมื่อได้เห็นแต่ขอบเขตแสดงตำแหน่งของสุสานหลักว่าเป็นชั้น ๆ ลงไปข้างใต้บริเวณที่ท่านกำลังเหยียบอยู่นั้น อย่างไรก็ดีหลายคนก็หันไปชื่นชมทัศนียภาพโดยรอบแทน พร้อมอดใจรอคอยการขุดสุสาน ..ทั้ง ๆ ที่อาจไม่มีวันเกิดขึ้นในยุคสมัยที่ตนมีชีวิตอยู่ก็ตาม
ส่วนกองทัพทหารดินเผาที่พบส่วนใหญ่อยู่ในสภาพแตกหักระเนระนาด ไม่ใช่เป็นเพราะธรรมชาติทำลายลง หากแต่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีการจงใจทำลายด้วยน้ำมือมนุษย์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นยุคสมัยต่อมาหลังจากที่ฉินสื่อหวงสิ้นอำนาจ ดังนั้นตุ๊กตานักรบดินเผาในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ที่นักท่องเที่ยวได้เห็นนั้นเป็นสภาพที่ผ่านการบูรณะมาแล้ว
อาณาเขตกองทัพทหารดินเผาส่วนที่ขุดแล้วแบ่งออกเป็นสามหลุม หลุมแรกหรือ Pit 1 ค้นพบเหล่าทหารดินเผาในลักษณะกำลังออกรบรวมทั้งสิ้นประมาณ 6,000 นาย (บ้างก็ว่า 8,000 นาย) แต่ละแถวจะประกอบด้วยม้า 4 ตัวนำทัพอยู่ตอนหน้า โดยขณะขุดพบใหม่ ๆ มีอาวุธจริงนับได้กว่าหมื่นรายการ และยังมีสภาพแหลมคมเพราะเคลือบสารกันผุกร่อนเอาไว้ล่วงหน้าตั้งแต่เมื่อ 2,000 กว่าปีที่แล้ว
Pit 2 นั้นมีขนาดเล็กกว่า และมีลักษณะการจัดวางเป็นรูปตัว L โดยเริ่มขุดมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1976 จนพบทหารดินเผาประมาณ 1,000 นาย รวมทั้งพลธนูในท่านั่งคุกเข่า เสนาธิการทหารและนายพล ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังขุดกันไม่เสร็จ ส่วน Pit 3 นั้นเป็นรูปตัว U มีขนาดเล็กที่สุด ประกอบไปด้วยทหารระดับสูง 68 นาย ม้า 4 ตัวและรถม้า 1 คัน ว่ากันว่าเป็นศูนย์บัญชาการรบ เพราะมีการค้นพบซากกระดูกสัตว์ที่มั่นใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของพิธีบูชายัญก่อนออกทำศึกสงคราม อย่างไรก็ดี นักโบราณคดีปักใจเชื่อว่าจำนวนนักรบที่ขุดค้นพบนี้อาจเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกองทัพทหารจำนวนมากมายที่ยังคงฝังตัวอยู่ใต้พื้นดินเบื้องล่างโดยรอบสุสาน และถ้าจะขุดให้หมดอาจต้องใช้เวลานานหลายสิบปี
สังเกตุได้ว่ารูปปั้นดินเผาของทหารแต่ละนายมีหน้าตาไม่เหมือนกัน คาดว่าจะทำขึ้นเลียนแบบตัวจริง โดยสมัยนั้นมีการแต่งแต้มสีให้เหมือนคนจริง ๆ ทุกประการ เมื่อนำตุ๊กตาเหล่านั้นมาสัมผัสอากาศและแสงสว่างในอีกสองพันปีต่อมา สีก็พลันจืดจางหายไปอย่างรวดเร็ว ส่วนการแบ่งยศกันเหมือนกองทัพจริง ๆ นั้นดูอย่างไร ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเคล็ดลับอยู่ที่การสังเกตุความแตกต่างของทรงผม และอาภรณ์บนกาย
หากว่าทหารดินเผาท่านนั้นมวยผมเอาไว้ด้านข้างอย่างเก๋ไก๋ แต่กลับแต่งชุดธรรมดาปราศจากเสื้อเกราะ เทียบได้ว่าเป็น “พลทหารทั่วไป” (Common Soilder) ขณะที่ผู้ใดก็ตามมีทรงผมรวบไว้เป็นมวยไม่ว่าจะด้านข้างหรือตรงกลางศีรษะ บนกายสวมเสื้อเกราะ ยิ่งถ้าอยู่ในท่านั่งด้วยแล้ว ก็ขอให้มั่นใจได้ว่าเขาเป็น “พลธนู” (Archer) ส่วนผู้ที่มีท่าทางน่าเกรงขามขึ้นมาหน่อย เกล้าผมเป็นมวยเดี่ยวตรงกลางพร้อมที่ครอบศีรษะ ถือว่าอยู่ในระดับ “ผู้บัญชาการ” (Commander) แต่หากพบว่าทหารผู้นั้นประสานมือเข้าด้วยกันทำหน้าตาสุขุมคัมภีรภาพเหมือนกำลังคิดการใหญ่ (มักพบว่ากางนิ้วชี้ขึ้นราวกับเคาะนิ้วระหว่างใช้ความคิด) ผมมวยแบ่งกลางออกเป็นสองก้อน อยู่ในชุดเสื้อเกราะที่ด้านหน้าและด้านหลังมีโบว์ด้านละ 3 ขยุ้ม ท่านก็คือผู้บัญชาการทหารสูงสุดหรือ “พลเอก” (General) ว่ากันว่านักรบดินเผาของแท้หากอยู่ในท่ายืนแล้วต้องยืนบนฐานสี่เหลี่ยมกันทุกคนเพื่อการทรงตัวที่มั่นคง ขณะที่ท่านนายพลจะตัวสูงและหนักกว่าคนอื่น ๆ
ส่วนฉินสื่อหวงตี้ดินเผาจะเป็นเช่นไรนั้น ก็มีผู้หวังดีปั้นพระองค์ขึ้นจากจินตนาการภายใต้ชุดฉลองพระองค์ยาวและเหน็บกระบี่ไว้ที่เอวให้สมกับเป็นจักรพรรดินักรบที่ไม่ยอมห่างไกลอาวุธ เช่นเดียวกับภาพวาดที่เห็นกันทั่วไป ดังนั้น ตุ๊กตาดินเผาแทนพระองค์ที่เห็นในปัจจุบันย่อมไม่ถือเป็นของแท้แม้จะยืนบนฐานสี่เหลี่ยมเหมือนคนอื่นเขา เพราะยังไม่มีใครเคยเห็นของจริงหรือยืนยันได้ว่ามีด้วยซ้ำไป เพียงแต่คนทั่วไปเชื่อว่าน่าจะอยู่ที่ไหนสักแห่ง ดั่งเช่นตุ๊กตากองทัพทหารเหมือนจริงที่พระองค์โปรดให้สร้างขึ้นเหล่านั้น
ความยิ่งใหญ่ชวนขนลุกขนพองเหล่านี้เองที่ทำให้นักท่องเที่ยวหายใจเข้าออกเป็นกองทัพทหารดินเผาใต้พิภพเมื่อได้มาเยือนซีอาน ทว่าเมื่อมองด้วยใจเป็นธรรมแล้ว ซีอานกลับไม่ควรเป็นเพียงเมืองที่มีชื่อเสียงควบคู่แต่กับสุสานฉินสื่อหวงตี้ เพราะนอกจากไม่ใช่เมืองหลวงของพระองค์โดยตรงแล้วกลับเป็นเมืองหลวงเก่าแก่ของหลายราชวงศ์ หนำซ้ำยังเป็นราชวงศ์ในยุคทองนั่นก็คือฮั่นและถัง ที่สืบทอดรุ่นต่อรุ่นได้ยาวนานกว่าราชวงศ์ฉินถึงสองร้อยกว่าปีด้วยซ้ำ (ราชวงศ์ฉินนั้นหลังจากสถาปนาแล้วกลับทรงอำนาจได้เพียงแค่ 14 ปี) ย่อมไม่แตกต่างจากราชธานีอื่น ๆ ที่ค้นพบสุสานประจำราชวงศ์จำนวนมากมาย
ซีอานจึงมีฐานะเป็นเมืองศูนย์กลางการวิจัยด้านโบราณคดีของมณฑลส่านซี อาชีพนักขุด-บูรณะซากโบราณเบ่งบานเฟื่องฟู ก่อนที่รัฐบาลจะสร้างอะไรต่อมิอะไรก็ขอให้นักโบราณคดียกทีมไปสำรวจกันเสียก่อน จวบจนบัดนี้สามารถขุดสุสานจักรพรรดิและสมาชิกราชวงศ์ได้กว่า 90 แห่ง นี่ยังไม่นับรวมสาขาของแต่ละแห่งที่แยกย่อยเป็นสุสานคนสนิทชิดเชื้อ อาทิ นางสนม ขุนนาง เป็นจำนวนอีกไม่น้อย
การที่ชาวจีนมักเรียกตัวเองว่าเป็น “ชาวฮั่น” ย่อมไร้ข้อกังขาว่าราชวงศ์ฮั่นยิ่งใหญ่เพียงใด (แม้จะมีช่วงเว้นวรรคอำนาจ แต่เมื่อรวมฮั่นตะวันตกซึ่งถือว่าเป็นฮั่นยุคต้นเข้ากับฮั่นตะวันออกที่เป็นฮั่นยุคหลังแล้ว ราชวงศ์นี้ยั่งยืนยาวนานถึง 426 ปี) ….เริ่มจากผู้นำของกบฏชาวนาต่อสู้ล้มล้างราชวงศ์ฉินที่เสื่อมมนต์อำนาจลงด้วยเหตุกดขี่ข่มเหงรีดไถพสกนิกรอย่างหนักจากสร้างเมกกะโปรเจคท์ทั้งหลาย มาสู่การสถาปนาราชวงศ์ฮั่นโดยย้ายเมืองหลวงจากเมืองเซี่ยนหยางของราชวงศ์ฉินแต่เดิม ข้ามแม่น้ำเว่ยมาอีกฟากหนึ่งกลายเป็นราชธานีใหม่ “ฉางอาน” (“ซีอาน”ในปัจจุบัน) จากนั้นราชวงค์ฮั่นตะวันตกก็รุ่งเรืองสูงสุดในรัชสมัยของจักรพรรดิอู่ตี้ (ก่อนคริสตศักราชที่ 141-87) ผู้เป็นโอรสของจักรพรรดิองค์แรก เป็นยุคที่มีปัญญาชนเข้ามารับใช้ราชสำนักมากมาย รวมทั้งซือหม่าเชียนผู้สร้างผลงานบันทึกประวัติศาสตร์อันลือลั่น ทั้งนี้ สุสานของพระองค์(ชื่อสั้น ๆ ว่า “สุสานเหมา” หรือ “เหมาหลิง”) ห่างจากตัวเมืองซีอานไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 40 กิโลเมตร ถือเป็นสุสานที่ใหญ่ที่สุดของราชวงศ์ฮั่นโดยใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 50 ปี ถึงแม้ว่ารัฐบาลจีนจะยังไม่ขุดสุสานหลักของท่านขึ้นมา แต่มีการพบชุดหยกที่ป้องกันศพไม่ให้เน่าเปื่อยในบริเวณใกล้เคียง และมีสุสานอื่น ๆ รายรอบอยู่ราว12 แห่ง เชื่อกันว่าเป็นของนางสนม นายพล รวมทั้งกุนซือคนสำคัญด้วย
ห่างจากสุสานฉินสื่อหวงไปทางตะวันตก 40 กิโลเมตร เพิ่งจะมีการขุดพบ“สุสานฮั่นจิง” โดยบังเอิญในปี ค.ศ. 1990 ระหว่างที่คนงานกำลังสร้างถนนหลวง จิงตี้เป็นจักรพรรดิลำดับที่ 4 ของราชวงศ์ฮั่น (157 – 141 BC ก่อนจักรพรรดิอู่ตี้ขึ้นครองราชย์) หลักฐานตุ๊กตานักรบดินเผาที่พบในสุสานถึงแม้จะมีจำนวนหลายพันแต่ก็มีขนาดเล็ก(ความสูงประมาณหนึ่งในสามเมื่อเทียบกับคนทั่วไป) ปัจจุบันไม่มีแขน ไม่สวมเสื้อผ้า เนื่องจากสมัยนั้นแขนทั้งสองข้างทำขึ้นมาจากไม้ส่วนเสื้อผ้าทำด้วยหนังจึงผุกร่อนไปตามกาลเวลา ทหารดินเผาเหล่านี้มีลักษณะนอบน้อมถ่อมตนกว่าที่พบในสุสานฉินสื่อหวง เชื่อว่าได้รับอิทธิพลจากลัทธิเต๋าที่เน้นความเรียบง่าย จึงมีลักษณะแตกต่างไปจากฉินสื่อหวงผู้นิยมความยิ่งใหญ่อลังการ์โดยสิ้นเชิง ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนักเพราะฮั่นเป็นราชวงศ์ที่มาทีหลัง ย่อมได้ประโยชน์จากการที่ราชวงศ์ฉินรวมอาณาจักรไว้ให้แล้ว จึงไม่ต้องหมกมุ่นกับเรื่องศึกสงคราม เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อยกว่าก็เริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งอื่น ๆ เช่นศิลปะ เป็นต้น ประมาณการว่าพระองค์เกณฑ์แรงงานมาสร้างสุสานดังกล่าวเพียงแค่ 17,000 คน และใช้เวลาสร้าง 28 ปี
ทางด้านราชวงศ์ถังที่สืบทอดราชสมบัติยาวนานถึง 289 ปี (ค.ศ. 618-907, มากกว่าราชวงศ์ฮั่นตะวันตก 74 ปี) จักรพรรดิไท่จงผู้โด่งดังไม่น้อยหน้าจักรพรรดิอู่ตี้ก็มีสุสานอยู่ในเมืองซีอานด้วยเช่นกัน(คนจีนเรียกชื่อสั้น ๆ ว่า “สุสานเจ้า” ออกเสียงแบบจีนกลางว่า “เจ้าหลิง”) ราชวงศ์ถังนั้นกล่าวกันว่าเป็นยุคที่รุ่งโรจน์ที่สุดของจีนในแง่ของแสนยานุภาพ อารยธรรมและความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ชนิดในน้ำมีปลาจับไม่ไหวในนามีข้าวกินไม่หมด ด้วยความที่พระองค์ทรงปรีชาสามารถทั้งการทหาร การปกครองแผ่นดินโดยธรรม และศรัทธาในศาสนาพุทธอย่างแรงกล้า โดยทรงโปรดให้พระภิกษุเสวียนจั้ง (พระถังซัมจั๋ง)เดินทางไปอินเดียเมื่อปี ค.ศ. 629 และโปรดให้สร้างเจดีย์ห่านป่าใหญ่ขึ้นในวัดซีหมิง นอกจากถวายแด่พระมารดาแล้วยังเป็นที่เก็บพระไตรปิฎกที่พระเสวียนจั้งนำมาจากอินเดียด้วย ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เปี่ยมด้วยคุณค่าของซีอาน
สุสานราชวงศ์ถังอีกแห่งที่อยู่ไม่ไกลจากสุสานเจ้านักก็คือ “สุสานเฉียน” อันเป็นอาณาจักรแห่งความตายที่งดงามของจักรพรรดิเกาจงและจักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียน(หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม “บูเช็คเทียน”) สุสานแห่งนี้ได้รับการบูรณะให้คงสภาพค่อนข้างดี เต็มไปด้วยรูปสลักคนและสัตว์ที่ตระการตามากมายรวมทั้งรูปปั้นหิน 61 ตัวที่เชื่อว่าเป็นรูปปั้นแทนตัวชาวต่างชาติผู้มาเข้าเฝ้าในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 ย่อมสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่บานสะพรั่งในยุคนั้น ทั้งนี้ จักรพรรดิเกาจงเป็นโอรสลำดับที่สามของจักรพรรดิไท่จง พระองค์ได้รับราชบังลังก์มาแบบ “ส้มหล่น” เพราะรัชทายาทลำดับแรกถูกพระบิดาจับได้คาเตียงว่าเป็นพวกรักร่วมเพศ ในเวลาต่อมาก็ถูกขับออกจากเมืองเพราะรู้ทันแผนชิงบัลลังก์ ส่วนรัชทายาทลำดับต่อมาก็ได้รับชะตากรรมเดียวกันจากการซ่องสุมกำลัง บัลลังก์จึงตกเป็นของพระองค์อย่างมิต้องลงแรงแย่งชิงใครมา และถึงแม้พระองค์จะไม่มีประวัติด้านพระปรีชาสามารถโดดเด่นนักแต่ก็ได้มเหสีอย่างอู่เจ๋อเทียน(อดีตสนมของพระบิดา)มาช่วยบริหารบ้านเมือง ทำให้ยุคสมัยของพระองค์เป็นช่วงทีศิลปะ วรรณคดีเจริญงอกงาม รวมไปถึงอำนาจการปกครองระหว่างดินแดน เช่น พิชิตเกาหลีได้ อีกทั้งยังชนะสงครามที่ทำกับญี่ปุ่นครั้งแรก แม้พระนางจะถูกกล่าวถึงในด้านความโหดเหี้ยมอำมหิตเพื่อรักษาอำนาจ ทว่าได้รับการยอมรับว่าทรงเปี่ยมไปด้วยความเฉลียวฉลาด มีความสนพระทัยด้านพระอักษรและเลื่อมใสพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก “วัดถ้ำประตูมังกร” (หลงเหมินสือคู) รูปสลักหินภายในถ้ำในเมืองลั่วหยางก็สำเร็จลงในยุคสมัยของพระนาง ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกไม่น้อยหน้ากองทัพทหารดินเผา
นอกจากนี้ ในบริเวณสุสานเฉียนยังมีสุสานเชื้อพระวงศ์อื่น ๆ เช่น “สุสานหย่งไต้” (หย่งไต้มู่) ขององค์หญิงหย่งไต้ พระธิดาองค์ที่เจ็ดของจักรพรรดิจงจง ตามตำนานกล่าวว่าพระองค์ถูกเสด็จย่า(พระนางอู่เจ๋อเทียน) กำจัดเมื่อพระชนมายุเพียง 17 พรรษาเพราะคำยุยงป้ายสีของผู้ไม่หวังดี แต่ที่แท่นศิลากลับจารึกไว้ว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ประสูติ สุสานนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจาก “สุสานจางหวย” (จางหวยมู่) ขององค์ชายหลี่เสียนผู้เป็นรัชทายาทลำดับที่สองของจักรพรรดิเกาจงและพระนางอู่เจ๋อเทียน พระองค์ถูกพระมารดาเนรเทศไปอยู่เมืองเฉิงตูด้วยข้อหาวางแผนก่อกบฏและถูกบังคับให้ผูกคอตายในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังมี “สุสานองค์ชายอี้เต๋อ” พระเชษฐาขององค์หญิงหย่งไต้ ผู้สิ้นพระชนม์แต่วัยเยาว์เช่นกัน (19 พรรษา) เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุสานเฉียนนี้ด้วย
############
สุสานเก่ายังขุดกันไม่หมด สุสานใหม่ก็มาจ่อคิวรออยู่แล้ว อย่างเช่นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ (ค.ศ. 2003 – 2004) ก็เพิ่งมีเรื่องน่าตื่นเต้นเกิดขึ้นด้วยการค้นพบสุสานประวัติศาสตร์แห่งใหม่เพิ่มเติม ตามหลักฐานคาดว่าเป็นของขุนนางชาวเปอร์เซียที่เข้ามาทำงานรับใช้ราชวงศ์ถังในยุคที่เส้นทางสายไหมเฟื่องฟู
อาจจะไม่ให้ความรู้สึก “อภิมหา” เท่าสุสานของฉินสื่อหวงตี้ แต่เมื่อพิจารณาจากจำนวนและราชวงศ์ที่หลากหลายนี้แล้ว ก็ชวนให้เปรียบเปรยซีอานว่าเป็น “เมืองสุสานโบราณ” มากกว่าจะเป็นเมืองของใครคนหนึ่งแต่เพียงผู้เดียว ……เพราะหากสามารถสแกนพื้นดินบริเวณโดยรอบ เราอาจเห็นสุสานบุคคลสำคัญฝังตัวอยู่อย่างหนาแน่นรอการค้นพบกันไม่หวาดไม่ไหวอยู่ข้างใต้ก็เป็นได้
(e-MoF Magazine ปีที่ 2 ฉบับที่ 13 กรกฎาคม 2549)
No comments:
Post a Comment